ก้าวสู่ปีที่ 60 ปวงชนมั่นใจใน สธค.
สำนักงานธนานุเคราะห์ หรือที่รู้จักกันในนาม โรงรับจำนำของรัฐ จัดงานยิ่งใหญ่ ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระราม9 เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ60 วันคล้ายวันสถาปนา โดยงานนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานในพิธีเปิด
วันเสาร์ที่ 25 เมษายน 2558 สำนักงานธนานุเคราะห์ จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ ๖๐ ปี สำนักงานธนานุเคราะห์ อย่างยิ่งใหญ่ ภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ประกอบด้วย
นิทรรศการบอร์ดให้ความรู้ บอกเล่าเรื่องราว ประวัติความเป็นมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน และวิวัฒนาการต่างๆ ของโรงรับจำนำ รวมทั้งการจำลองโรงรับจำนำย่อมๆ มาไว้ในงาน
มีการนำของใช้โบราณมาโชว์ อาทิ ตั๋วจำนำใบแรก ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ลูกคิดหยก ครกหินที่ประชาชนนำมาจำนำ
กิจกรรมให้ความรู้ ผ่านการเสวนา ในหัวข้อที่น่าสนใจ “ค่าของทอง กับ การปรับตัวของโรงรับจำนำ” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ คุณกมลธัญ พรไพศาลวิจิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยทองคำที่จะมาร่วมเสวนา กับผู้เชี่ยวชาญด้านโรงรับจำนำของรัฐ ซึ่งจะมาแนะนำผู้ประกอบการด้านโรงรับจำนำในปัจจุบันและผู้ที่จะเริ่มธุรกิจโรงรับจำนำ คุณมานะ เกลี้ยงทอง ผู้อำนวยสำนักงานธนานุเคราะห์ จะมาเสนวนาในมุมของการปรับตัว ของโรงรับจำนำ ในภาวะที่ค่าทองผันผวน
นอกจากนี้กิจกรรมไฮไลท์ของงาน คือ การประมูลทรัพย์หลุดจำนำ งานนี้สำนักงานธนานุเคราะห์ขนสินค้าหลุดจำนำ คุณภาพดี ราคาถูก กว่า 100 รายการ เช่น เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ ไม่ว่าจะเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน รวมถึงของใช้จำพวก คอมพิวเตอร์ กีตาร์ไฟฟ้า ฯลฯ มูลค่ารวมกว่าล้านบาท มาให้ผู้สนใจร่วมประมูลกันอย่างไม่อั้น อีกทั้งยังมีเกมส์ร่วมสนุกมากมาย
นายมานะ เกลี้ยงทอง ผู้อำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์ หน่วยงานสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า สำนักงานธนานุเคราะห์ หรือที่รู้จักกันในนาม โรงรับจำนำของรัฐ จัดตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2498 ในสมัย ฯพณฯ จอมพลป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่ประสบปัญหาเฉพาะหน้า ขาดแคลนเงินใช้ในการดำรงชีพและการประกอบอาชีพ โดยนำทรัพย์สินมาจำนำเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำ และเพื่อเป็นการตรึงระดับอัตราดอกเบี้ยรับจำนำ มิให้โรงรับจำนำเอกชนเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จากประชาชนผู้ใช้บริการเกินอัตราที่พระราชบัญญัติโรงรับจำนำกำหนด ปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สถานธนานุเคราะห์” การดำเนินงานระยะแรกมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการสังกัดแผนกธนานุเคราะห์กองสวัสดิการสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย
ปัจจุบันสำนักงานธนานุเคราะห์มีสถานธนานุเคราะห์ทั้งหมด 34 แห่ง ตั้งอยู่ในเขตต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร 29 แห่ง ปริมณฑล จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี 2 แห่ง จังหวัดปทุมธานี 1 แห่ง จังหวัดสมุทรปราการ 1 แห่ง และส่วนภูมิภาค จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ จังหวัดระยอง โดยมีวิสัยทัศน์“เป็นสถาบันรับจำนำของรัฐบาล ด้วยบริการที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว และยึดหลักธรรมาภิบาล”เป็นองค์กรสนองนโยบายรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาทางด้านการเงินเฉพาะหน้าและมุ่งมั่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กรด้วยบุคลากรที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย บริการด้วยความโปร่งใส เอื้ออาทร เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดต่อผู้ใช้บริการ ตลอดระยะเวลา 60 ปี ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาโครงการ รองรับความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่องหลายด้าน อาทิ เช่นการขยายสาขาเพื่อรองรับความต้องการได้ทั่วถึง การปรับเปลี่ยนตัวอาคารให้ดูทันสมัยและสวยงามรวมทั้งการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้บริการประชาชนอย่างรวดเร็วและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเครื่องสแกนลายนิ้วมือมาใช้แทนรูปแบบเดิม บาร์โค๊ด เครื่องอ่านบาร์โค๊ด และเครื่องอ่านบัตรประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ สร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้ามากขึ้นด้วย ในอนาคตสำนักงานธนานุเคราะห์หวังที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการให้บริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้สำนักงานธนานุเคราะห์เป็นสำนักงานอิเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์แบบ
ส่วนทิศทางการดำเนินงานของสำนักงานธนานุเคราะห์ ปี 2558 และระยะ 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2562)นั้น ได้มีแผนขยายสาขาในส่วนภูมิภาค ปีละ 2 สาขา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีแผนเปิดสาขาแห่งที่ 35 ตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง จ.ระยอง สาขาแห่งที่ 36 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จ.ลำพูน เพื่อให้ประชาชนได้รับการอย่างทั่วถึง ทั้งยังมุ่งมั่นพัฒนา โรงรับจำนำของรัฐ ให้ใกล้กับประชาชนมากขึ้นตาม วิสัยทัศน์ “เป็นสถาบันรับจำนำของรัฐบาลด้วยบริการที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็วและยึดหลักธรรมาภิบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น