ads 1081*250

ads 1081*250

บทความที่ได้รับความนิยม

พรบ โดรน drone


http://www.rcthai.net/board/index.php?/topic/271259-เรื่องพรบควบคุมอากาศยานไร้ค/page-2


การใช้โดรน (drone)ในประเทศไทยได้เริ่มมานานหลายปีแล้วและมีแนวโน้มจะแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการละเล่น เพื่อรายงานข่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำงานหรือเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงหรือทางการทหาร
พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497(พ.ร.บ.เดินอากาศ) มีบทบัญญัติจำนวนมากที่ทำให้เข้าใจได้ว่าต้องใช้บังคับกับโดรนด้วยซึ่งบทบัญญัติเหล่านั้นมีโทษทางอาญา อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม2558 ที่ผ่านมาราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกพ.ศ.2558”(“ประกาศโดรน”) อันเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาการใช้โดรนในประเทศไทย
ประกาศฉบับนี้ร่างขึ้นมาบนฐานความคิดที่เข้าใจว่า“การบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน” ตามมาตรา 24 นั้นเป็นเรื่องเอกเทศแยกออกจาก พ.ร.บ.เดินอากาศ เกือบทั้งฉบับ บทบัญญัติอื่นๆไม่ว่าจะเรื่องเส้นทางบิน ที่ขึ้นลงของอากาศยาน การจดทะเบียนอากาศยาน เป็นต้นไม่นำมาใช้แก่การบังคับและปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน
อย่างไรก็ดีมีอีกแนวคิดหนึ่งที่มองว่าบทบัญญัติดังกล่าว เป็นเพียงการควบคุมพฤติกรรมเฉพาะอย่างหนึ่งมิได้เป็นบทเอกเทศที่จะยกเว้นการ ใช้บังคับบทบัญญัติในเรื่องอื่นๆไปด้วยแม้จะมีการอนุญาตให้บังคับหรือปล่อย อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินแล้วอากาศยานนั้นก็ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอื่นด้วย ตราบเท่าที่ยังเป็นอากาศยานตามกฎหมาย
บทความนี้จะอธิบายปัญหาเทคนิคกฎหมายในการใช้พ.ร.บ.เดินอากาศ กับโดรนทั้งนี้มิได้เน้นปัญหาในทางเนื้อหาของประกาศโดรนซึ่งสมควรมีการวิเคราะห์ต่างหากออกไป
โดรนเป็นอากาศยานหรือไม่
ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศ “อากาศยาน หมายความรวมถึงเครื่องทั้งสิ้นซึ่งทรงตัวในบรรยากาศโดยปฏิกิริยาแห่งอากาศเว้นแต่วัตถุซึ่งระบุยกเว้นไว้ในกฎกระทรวง” ทั้งนี้ “กฎกระทรวงกำหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548” กำหนดให้“เครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่น” ไม่เป็นอากาศยาน แต่มิได้ยกเว้น “เฮลิคอปเตอร์ซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่น”ไว้แต่ประการใด
โดรนถือเป็นอากาศยานตามนิยามข้างต้นแต่โดรนที่มี ลักษณะเป็นเครื่องบินซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่นจะถูกยกเว้นไม่เป็นอากาศยาน อย่างไรก็ดีโดรนส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นเฮลิคอปเตอร์ซึ่งแม้จะใช้เป็นเครื่อง เล่นก็ตามยังนับเป็นอากาศยานตามพ.ร.บ.เดินอากาศ
บทบัญญัติเกี่ยวกับอากาศยาน
การที่โดรนมีสถานะทางกฎหมายเป็นอากาศยานนั้นย่อมหมายความว่า บทบัญญัติเกี่ยวกับอากาศยานที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.เดินอากาศ อาจต้องใช้บังคับแก่โดรนด้วยขอให้ลองพิจารณาตัวอย่างบทบัญญัติดังต่อไปนี้
·     ห้ามมิให้อากาศยานใช้ที่หนึ่งที่ใด เป็นที่ขึ้นลงนอกจากสนามบินอนุญาตหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยานที่ได้ รับอนุญาตหรือที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด(มาตรา17) (จำคุกไม่เกิน5ปี ปรับไม่เกิน 200,000บาท มาตรา 72)
·     อากาศยานต้องบินตามเส้นทางบินที่กำหนดในกฎกระทรวง(มาตรา 18) (จำคุกไม่เกิน5ปี ปรับไม่เกิน 200,000บาท มาตรา 72)
·     อากาศยานทุกลำที่ทำการบินในราชอาณาจักรต้องทำแผนการบินและแจ้งต่อหน่วยงานให้บริการจราจรทางอากาศ(มาตรา18/1)(ปรับไม่เกิน 50,000 บาทมาตรา 73)
·     ห้ามมิให้อากาศยานบินเข้าหรือบินผ่านเขตห้ามหรือเขตกำกัดการบินซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา(มาตรา22)(ปรับไม่เกิน 50,000 บาทมาตรา 73)
·     ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องถ่ายภาพในอากาศยานหรือจากอากาศยานไม่ว่าโดยวิธีใดๆ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 23)(ปรับไม่เกิน 50,000 บาทมาตรา 77)
·     ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อย อากาศยานซึ่งไม่มีนักบินนอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด(มาตรา24)(จำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 40,000บาท มาตรา 78)
·     ห้ามมิให้ผู้ใดใช้อากาศยานส่วนบุคคลในการเดินอากาศเว้นแต่จะได้รับอนุญาตใช้อากาศยานส่วนบุคคลจากรัฐมนตรี(มาตรา29ทวิ) (จำคุกไม่เกิน 5ปี ปรับไม่เกิน 200,000บาท มาตรา 81)
·     แบบที่จะใช้ในการผลิตอากาศยานต้องมีใบรับรองแบบ(มาตรา 36)ห้ามมิให้ผู้ใดมีผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายโดยรู้ว่าไม่เป็นไปตามแบบ (จำคุกไม่เกิน6 เดือนปรับไม่เกิน 100,000 บาทมาตรา 116)
·     ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตอากาศยานเว้นแต่ได้รับใบอนุญาตผลิตอากาศยานจากอธิบดี (มาตรา 41/21) (จำคุกไม่เกิน5 ปีปรับไม่เกิน 1,000,000บาท มาตรา 89)
·     อากาศยานที่จะใช้ในการเดินอากาศในราชอาณาจักรต้องมีใบสำคัญสมควรเดินอากาศที่ออกให้สำหรับอากาศยานนั้น(มาตรา41/61) ห้ามมิให้ผู้ใดทำการบินในกรณีไม่มีใบสำคัญสมควรเดินอากาศ (มาตรา 41/89)(จำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง7 ปีปรับตั้งแต่ 40,000 บาทถึง280,000 บาทมาตรา 101)
·     ผู้ขอรับใบสำคัญสมควรเดินอากาศต้องเป็นผู้จดทะเบียนอากาศยาน(มาตรา 41/63)
·     อากาศยานที่มีใบสำคัญสมควรเดินอากาศต้องได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างปลอดภัย(มาตรา41/77)
·     ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการหน่วยซ่อมเว้นแต่จะได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมจากอธิบดี (มาตรา 41/94) (จำคุกไม่เกิน5 ปีปรับไม่เกิน 1,000,000บาท มาตรา 89)
·     ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประจำหน้าที่เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา 42) (จำคุกไม่เกิน2ปี ปรับไม่เกิน 80,000บาท มาตรา 79)
·     เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นแก่ อากาศยานในราชอาณาจักรให้ผู้จดทะเบียนอากาศยานนั้นแจ้งอุบัติเหตุนั้นต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่ชักช้าและทำรายงานตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับคณะ กรรมการการบินพลเรือน(มาตรา61) (ปรับไม่เกิน200,000 บาทมาตรา 114)
·     เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่อากาศยานใดในราชอาณาจักรให้อากาศยานนั้นอยู่ในความพิทักษ์ของพนักงานเจ้าหน้าที่(มาตรา62) (จำคุกไม่เกิน6 เดือนปรับไม่เกิน 20,000 บาทมาตรา 115)
·     ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าในโรงงานหรือสถานที่ซึ่งเป็นที่สร้างประกอบ ซ่อม หรือตรวจและถอด ปรับอากาศยานหรือส่วนของอากาศยาน (มาตรา 66(3))หรือเข้าตรวจสถานที่เก็บอากาศยาน (มาตรา 66(5)) (จำคุกไม่เกิน6 เดือนปรับไม่เกิน 20,000 บาทมาตรา 96)
โดรนกับความไม่เหมาะสมในการปฏิบัติตามพ.ร.บ.เดินอากาศ
เนื่องจาก พ.ร.บ.เดินอากาศ ออกแบบมาโดยมุ่งเน้นกำกับดูแลอากาศยานลำใหญ่เป็นสำคัญมิได้คำนึงถึงอากาศยาน ลำเล็กลำน้อยที่ใช้เพื่อความสนุกสนานหรือทำกิจกรรมในพื้นที่จำกัดบทบัญญัติ หลายเรื่องที่ยกมาข้างต้นเมื่อนำมาใช้กับโดรนในกรณีดังกล่าวจะเป็นเรื่องผิด ฝาผิดตัวเป็นอย่างมาก
จะ เป็นไปได้อย่างไรที่จะให้โดรนต้องไปขึ้นลงที่สนามบินอนุญาตต้องบินในเส้นทาง บินที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือต้องมีการทำแผนการบินแจ้งหน่วยงานจราจรทางอากาศ ส่วนเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดรนก็จะต้องนำโดรนมาจดทะเบียน(สัญชาติ)และขอใบ สำคัญสมควรเดินอากาศใครจะทำอาชีพผลิตโดรนขายก็ต้องมีใบอนุญาตผลิตอากาศยาน ใครจะทำอาชีพซ่อมโดรนก็ต้องขออนุญาตเป็นหน่วยซ่อมอากาศยานคนที่จะเล่นโดรน อาจต้องไปขอใบอนุญาตเป็นผู้ประจำหน้าที่ในฐานะผู้ควบคุมอากาศยานจากภายนอก และต้องทำแผนการบินทุกครั้งก่อนที่จะเล่นโดรนในกรณีที่โดรนประสบอุบัติเหตุ ก็อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวนอุบัติเหตุส่วนโดรนที่เก็บไว้ที่บ้านนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจเข้าตรวจบ้านในฐานะที่เป็นสถานที่เก็บอากาศยาน
การยกเว้นโดรนจากการเป็นอากาศยาน
จะ เห็นได้ว่าหากบังคับใช้กฎหมายตามที่เป็นอยู่น่าจะเกิดความโกลาหลเพราะบท บัญญัติเหล่านั้นมิได้ออกแบบมาสำหรับลักษณะการใช้งานของโดรนเลยพ.ร.บ.เดิน อากาศมีช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหาเช่นนี้คือ ให้ออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นวัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดมิให้ถือเป็นอากาศยาน เมื่อยกเว้นแล้วจะทำให้วัตถุนั้นจะอยู่นอกการบังคับตามพ.ร.บ.เดินอากาศ ซึ่งก็มีจุดอ่อนอยู่บ้าง เพราะบางกรณีราชการต้องการกำกับดูแลในบางเรื่องแต่กฎหมายให้ยกเว้นทั้งหมด ถ้าไม่ยกเว้นก็ต้องถูกกำกับทั้งหมดจะเลือกบางเรื่องไม่ได้
ที่ผ่านมาราชการใช้วิธียกเว้นอากาศยานพร้อมกำหนดวัตถุประสงค์การใช้งานไว้ด้วย เช่น เครื่องบินเล็กหากใช้เป็นเครื่องเล่นก็ไม่ถือเป็นอากาศยาน หากใช้เพื่อการอื่นก็จะถือเป็นอากาศยาน และยังเคยกำหนดเงื่อนไขระดับความสูงของการบินไว้ด้วยเช่น ยานพาหนะทางน้ำ (WIGCraft) ที่บินสูงไม่เกิน 150 เมตรไม่ถือเป็นอากาศยานเป็นต้น
ดังนั้นจึงพอเป็นไปได้ที่ใช้เกณฑ์เรื่องวัตถุประสงค์ เวลา สถานที่ และเงื่อนไขบางประการเป็นกรอบในการยกเว้นการเป็นอากาศยานได้ เช่น กฎกระทรวงอาจกำหนดว่าโดรนที่เป็นเครื่องเล่น ในเวลากลางวัน ในพื้นที่ที่จัดไว้เพื่อการนั้น บินสูงไม่เกินกว่า150 เมตรเป็นต้น ไม่ถือเป็นอากาศยาน เมื่อยกเว้นแล้วบทบัญญัติต่างๆ ใน พ.ร.บ.เดินอากาศก็ไม่นำมาใช้บังคับแต่หากทำผิดเงื่อนไขก็จะกลายมาเป็นอากาศยานอันอยู่ใต้บังคับของ พ.ร.บ.เดินอากาศทั้งฉบับ ซึ่งเท่ากับเป็นการผิดบทบัญญัติต่างๆใน พ.ร.บ.เดินอากาศโดยทันที
ฐานอำนาจในการออกประกาศโดรน
ราชการไม่ได้เลือกวิธีออกกฎกระทรวงยกเว้นโดรนออกจากการเป็นอากาศยานตามพ.ร.บ.เดินอากาศ แต่เลือกออก “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอกพ.ศ.2558” ตามมาตรา 24
มาตรา 24 บัญญัติว่า“ห้ามมิให้ผู้ใดบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่ มีนักบินหรือทิ้งร่มอากาศนอกจากได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีและ ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด”
เหตุที่ราชการออกประกาศตามมาตรานี้เพื่อแก้ปัญหาโดรนก็เพราะเชื่อว่าการอนุญาตตามมาตรา 24เป็นเอกเทศจากการใช้บทบัญญัติอื่นเกือบทั้งหมดเมื่ออนุญาตตามมาตรานี้แล้ว ก็ไม่ต้องปฏิบัติตามมาตราอื่นบรรดามีอีกทั้งนี้ต้องตีความต่อเนื่องไปอีกว่าอากาศยานที่บังคับหรือปล่อยภายใต้การอนุญาตตามมาตรา24จะไม่ถือเป็นการ“บิน” “ทำการบิน” “เดินอากาศ” หรือ “ขึ้นลง” แต่อย่างใด เพราะถ้าถือว่า “บิน”“ทำการบิน” “เดินอากาศ” หรือ “ขึ้นลง” แล้ว ก็จะต้องปฏิบัติตามมาตราอื่นๆ ด้วย เช่นต้องบินในเส้นทางที่กำหนด ต้องทำแผนการบิน ต้องมีใบสำคัญในการเดินอากาศต้องขึ้นลงที่สนามบินหรือที่ขึ้นลงอนุญาต เป็นต้น
ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ.นี้มีชื่อว่า พ.ร.บ.เดินอากาศแต่การอนุญาตตามมาตรา 24แห่ง พ.ร.บ.เดินอากาศ กลับไม่ถือเป็น “การเดินอากาศ” และในประกาศโดรนก็พูดว่าโดรน“บิน” อยู่หลายที่ แต่ต้องถือว่าไม่ใช่ “บิน” ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศ นอกจากนี้ยังต้องตีความกลับมาอีกว่าถ้าเป็นกรณีถ่ายภาพทางอากาศตามมาตรา23 การอนุญาตตามมาตรา24จะไม่ยกเว้น กล่าวคือ ผู้ถ่ายภาพทางอากาศต้องขออนุญาตต่างหากการตีความแบบนี้จะทำให้สับสนงุนงงมาก ยากที่จะรู้ว่ามาตรา 24 ไปยกเว้นบทบัญญัติเรื่องใดบ้างซึ่งสุดท้ายก็ต้องไปขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ มิใช่ขึ้นกับเนื้อหาในกฎหมาย
เนื้อหา ของประกาศฉบับนี้จึงแสดงให้เห็นถึงการกำหนดระบอบกำกับดูแลกิจกรรมการบินแบบ ใหม่แตกต่างจากบทบัญญัติต่างๆที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.เดินอากาศเช่น
ประกาศโดรน
พ.ร.บ.เดินอากาศ
·      สภาพที่สามารถทำการบินได้อย่างปลอดภัย
·      ความสมควรเดินอากาศ
·      พื้นที่ที่จะทำการบินที่อนุญาตจากเจ้าของพื้นที่
·      สนามบินหรือที่ขึ้นลงชั่วคราวอนุญาต
·      คุณสมบัติและความรู้ของผู้บังคับอากาศยาน
·      คุณสมบัติของผู้ประจำหน้าที่
·      แนวการบิน
·      เส้นทางบิน
·      การขึ้น(ลง)ทะเบียนประสงค์จะใช้อากาศยาน
·      การจดทะเบียนอากาศยาน


ผู้เขียนไม่เชื่อว่า พ.ร.บ.เดินอากาศจะมีเจตนารมณ์ที่จะให้มาตรา24 เป็นฐานอำนาจในการสร้างกฎเกณฑ์การบินแยกต่างหากจากพ.ร.บ.เดินอากาศ แต่เห็นว่ามาตรา 24เป็นเพียงการอนุญาตพิเศษเพิ่มเติมจากการปฏิบัติ ตามบทบัญญัติอื่นๆหากผู้ใดมีความประสงค์จะบังคับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินก็ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีส่วนอากาศยานนั้นจะมีความสมควรเดิน อากาศหรือไม่จะบังคับให้บินไปเส้นทางใดจะขึ้นลงที่ไหนผู้บังคับมีคุณสมบัติ อย่างไรโดยหลักการแล้วก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เดินอากาศ ดังนั้น มาตรา24 จึงหาใช่บทยกเว้นพ.ร.บ.เดินอากาศ ดังที่ราชการใช้เป็นสมมติฐานในการออกประกาศโดรนไม่ หากเห็นว่าบทบัญญัติตามพ.ร.บ.เดินอากาศไม่เหมาะสมที่จะใช้บังคับแก้โดรน ก็สมควรยกเว้นโดรนออกจากการเป็นอากาศยาน
การอนุญาตเป็นหนังสือตามประกาศโดรน
เมื่ออ่านประกาศโดรนประกอบกับการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจแบ่งการอนุญาตให้บังคับโดรนได้เป็น3ลักษณะ
(!) การอนุญาตเป็นหนังสือเป็นการทั่วไปแก่ประชาชนสำหรับโดรนที่หนักไม่เกิน 2กิโลกรัม ที่ใช้ในการเล่นเป็นงานอดิเรกเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา (ดูข้อสังเกตด้านล่าง)
(2) การอนุญาตเป็นหนังสือการขึ้นทะเบียน สำหรับโดรนที่หนักเกิน2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน25 กิโลกรัมที่ใช้ในการเล่นเป็นงานอดิเรกเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา กรณีหนึ่ง และสำหรับโดรนที่หนักไม่เกิน 25 กิโลกรัมที่ใช้เพื่อการอื่นๆเช่น รายงานข่าว ถ่ายภาพ ถ่ายหนัง วิจัยและพัฒนาอากาศยาน อีกกรณีหนึ่ง(ดูข้อสังเกตด้านล่าง)
(3) การอนุญาตเป็นหนังสือเฉพาะราย กรณีนี้สำหรับโดรนที่หนักเกิน25 กิโลกรัมไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด (กรณีนี้ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ในประกาศ)


ข้อสังเกตเรื่องการอนุญาตเป็นหนังสือเป็นการทั่วไปแก่ประชาชน
จาก คำอธิบายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประกาศโดรนฉบับนี้ถือเป็นการอนุญาตเป็น หนังสือจากรัฐมนตรีเป็นการทั่วไปแก่ประชาชนแล้วสำหรับโดรนที่หนักไม่เกิน 2กิโลกรัม ที่ใช้ในการเล่นเป็นงานอดิเรกเพื่อความบันเทิง หรือเพื่อการกีฬา
อย่างไรก็ดี ประกาศนี้มีชื่อว่า “ประกาศ... หลักเกณฑ์การขออนุญาต...” มิได้มีชื่อว่า “ประกาศ ... อนุญาตเป็นการทั่วไป”อีกทั้งไม่มีข้อความใดในประกาศที่ระบุว่าให้ถือว่า ประกาศนี้เป็นการอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีเป็นการทั่วไปแก่ประชาชน
ในทางตรงกันข้าม ข้อ 5 ของประกาศใช้คำว่า“รัฐมนตรีอนุญาต ... ได้ โดยผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานต้องมีอายุเกินกว่า 18 ปี เว้นแต่จะมีผู้แทนโดยชอบธรรมควบคุมดูแล และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ...” ข้อความนี้ย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นหลักเกณฑ์ที่จะทำให้“รัฐมนตรีอนุญาตได้” โดยผู้ขอต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งอ่านตามปกติทั่ว ไปก็ต้องเข้าใจว่ารัฐมนตรีต้องออกหนังสืออนุญาตเมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว ถ้าราชการประสงค์จะให้ข้อ5นี้เป็นการอนุญาตเป็นหนังสือเป็นการทั่วไปแก่ประชาชน ก็ควรจะเขียนให้ชัดเจน
ผลของการไม่ระบุให้ชัดเจน คือ ประชาชนที่ใช้โดรนเพื่อการเล่นเป็นงานอดิเรกก็ยังตกอยู่ในข่ายที่อาจผิดกฎหมายอยู่เช่นเดิมเพราะน่าจะไม่มีการอนุญาตเป็นหนังสือใดๆ แก่การเล่นโดรนตามประกาศนี้
นอก จากนี้หากอนุโลมตามคำอธิบายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าประกาศนี้ถือเป็น การอนุญาตเป็นหนังสือจากรัฐมนตรีเป็นการทั่วไปแก่ประชาชนก็น่าสงสัยว่า มาตรา 24แห่ง พ.ร.บ.เดินอากาศเป็นกฎหมายที่ต้องอนุญาตเฉพาะรายเท่านั้น หรืออนุญาตเป็นการทั่วไปได้หากตีความอย่างหลัง ผู้รักษาการกฎหมายเกือบทุกฉบับคงจะมีอำนาจอนุญาตเป็นการทั่วไปได้ทั้งสิ้น โดยถือว่าเป็นการตีความในทางที่ช่วยให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพต่างๆเพิ่มขึ้น อีกทั้งหากคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องถือว่าคำสั่งนั้นยังมี ผลอยู่จนกว่าจะถูกเพิกถอน
ข้อสังเกตเรื่องการขึ้นทะเบียนโดรนหรือผู้บังคับโดรน?
ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น มาตรา 41/61แห่ง พ.ร.บ.เดินอากาศ บัญญัติว่า “อากาศยานที่จะใช้ในการเดินอากาศในราชอาณาจักรต้องมีใบสำคัญสมควรเดินอากาศที่ออกให้สำหรับอากาศยานนั้น” แต่ราชการตีความว่ามาตรา24 เป็นบทเอกเทศของพ.ร.บ.เดินอากาศ และถือว่าการบังคับอากาศยานตามมาตรา 24มิใช่การเดินอากาศ ตาม พ.ร.บ.เดินอากาศกรณีจึงไม่ต้องมีการกำกับดูแลความสมควรเดินอากาศตาม พ.ร.บ.เดินอากาศอากาศยานจึงไม่ต้องจดทะเบียน(สัญชาติ) และไม่ต้องมีใบสำคัญสมควรเดินอากาศ
การตีความเช่นนี้ทำให้ต้องใช้มาตรา24 สร้างระบบทะเบียนขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในพ.ร.บ.เดินอากาศ โดยใช้คำต่างออกไปจาก พ.ร.บ.เดินอากาศที่ใช้คำว่า “จดทะเบียน”ประกาศโดรนใช้คำทั้ง “ขึ้นทะเบียน” และ “ลงทะเบียน” ถ้อยคำในประกาศก็ไม่ชัดเจนว่า“ขึ้นทะเบียนผู้ขอ” หรือ “ขึ้นทะเบียนอากาศยาน” ประเด็นนี้จึงเป็นการใช้กฎหมายสร้างระบอบกำกับดูแลขึ้นใหม่แยกจากระบบกำกับดูแลตามพ.ร.บ.เดินอากาศดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ประกาศโดรน –ตัวอย่างข้อบกพร่องในโครงสร้างกฎหมายที่ ICAO ตรวจพบ
ปัญหาที่อธิบายมายืดยาวทั้งหมดนี้ไล่สาเหตุไปถึงที่สุดแล้วจะพบว่าเกิดจากข้อบกพร่องของการออกแบบ พ.ร.บ.เดินอากาศ ที่ไม่ยอมรับว่าอากาศยานมีประเภทและลักษณะแตกต่างกันซึ่งสมควรอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ต่างแตกกันได้ทั้งๆ ที่ก็เคยมีการเสนอเรื่องนี้มานานนับสิบปีแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
พ.ร.บ.เดินอากาศมองว่าหากวัตถุหนึ่งเป็นอากาศยานแล้ว ต้องอยู่ภายใต้กรอบเดียวกันหมดหากไม่เป็นอากาศยานแล้วก็ไม่ต้องอยู่ภายใต้ กฎเกณฑ์ใดๆ เลยผู้ร่างกฎหมายไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้รักษาการตามกฎหมายมีอำนาจในการ เลือกใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันบังคับกับอากาศยานที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดีไม่ว่าผู้รับผิดชอบในกระบวนการนิติบัญญัติของไทยจะเห็นเป็นอย่างไร คณะผู้ตรวจของ ICAO ก็ได้ชี้ข้อบกพร่องนี้ไว้ให้ประเทศไทยต้อง แก้ไขให้ผู้รักษาการตามกฎหมายมีอำนาจเลือกใช้หรือเลือกยกเว้นบทบัญญัติให้ เหมาะสมแก่อากาศยานแต่ละประเภทเมื่อใดที่ฝ่ายนิติบัญญัติยอมรับให้ผู้ รักษาการตามกฎหมายมีอำนาจเช่นว่านี้แล้วการใช้และตีความกฎหมายที่ออกไปจาก หลักวิชาโดยเจตนาดีเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ นั้นก็น่าจะลดน้อยลงไป
ทางเลือกอย่างน้อยสองทางของราชการในขณะนี้คือ
·        ปล่อยให้มีการใช้และตีความประกาศโดรนไปตามความเข้าใจของพนักงานเจ้าหน้าที่จะถูกจะผิดก็อนุโลมกันไปก่อน แล้วรอจนกว่าจะมี พ.ร.บ.เดินอากาศฉบับใหม่ออกมาจากนั้นถึงจะกำกับดูแลให้ถูกต้องเหมาะสมแก่กรณีต่อไป หรือ
·        ยกเลิกประกาศนี้แล้วออกกฎกระทรวง ยกเว้นโดรนมิให้ถือเป็นอากาศยานโดยมีวัตถุประสงค์และเงื่อนไขบางประกาศอัน เป็นการกำกับดูแลโดรนอย่างไม่เคร่งครัดนัก ซึ่งดีกว่าในขณะนี้ที่ไม่กำกับดูแลอะไรเลยประกอบกับให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา ที่มีอยู่เข้ามาช่วยดูแลในบางส่วนด้วย เช่น การใช้โดรนต้องไม่เป็นอันตรายแก่สนามบินการจราจรทางอากาศ และอากาศยาน (ป.อ. มาตรา 229,231 และ 232) เป็นต้น แล้วก็รอจนกว่าจะมีพ.ร.บ.เดินอากาศฉบับใหม่ออกมาถึงจะพิจารณากำกับดูแลอย่างเคร่งครัดต่อไปหากประสงค์เช่นนั้น

PP Tour

ร้านอาหาร

[ร้านอาหาร][bsummary]

www.grandbookinggroup.com

โรงแรม

[โรงแรม][bsummary]

หอพักสตรีสุดารัตน์

อื่น

[อื่น][bleft]

วช

[วช][twocolumns]

หอพักสตรีสุดารัตน์

ภาคกลาง

[ภาคอีสาน][twocolumns]